
อย่างที่กล่าวไปแล้วถึงความสำคัญการลงทุนในทำเลที่ตั้งสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์ เพราะไม่ว่าจะเป็นการซื้อที่ หรือการเช่าทำเลที่ดีก็ต้องใช้เงินลงทุนไปเป็นจำนวนมาก และแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องดีหากจะย้ายทำเลบ่อยๆ ดังนั้นการตัดสินใจเลือกทำเลที่ตั้งสำหรับการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์จึงต้องทำอย่างละเอียดรอบคอบและคำนึงถึงผลในระยะยาว
โดยมากแล้วผู้ที่เข้าร่วมแฟรนไชส์นั้นมักตัดสินใจในการเลือกทำเลเพียงครั้งเดียว ซึ่งหากได้ที่ทำเลที่เหมาะสมก็จะทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ของคุณเติบโตไปได้ดี และได้เปรียบคู่แข่ง แต่หากเลือกทำเลที่ไม่ดี กลุ่มลูกค้าเป้าหมายและผู้บริโภคเข้าถึงยากก็อาจนำไปสู่ความล้มเหลวได้เช่นกัน
บทความนี้ SME Frog จะนำผู้อ่านไปรู้จักกับ 5 ข้อสำคัญในการเลือกทำเลที่ตั้งเพื่อประกอบธุรกิจแฟรนไชส์
1ประเภทของธุรกิจแฟรนไชส์
การเลือกทำเลที่เหมาะสม บางครั้งผู้ประกอบการต้องมองว่าประเภทของธุรกิจแฟรนไชส์ที่เราทำเป็นแบบใด และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายส่วนใหญ่คือใคร
เช่น หากแฟรนไชส์ของคุณเป็นธุรกิจเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม สถานประกอบการควรอยู่ในย่านชุมชน เข้าถึงง่ายและหาซื้อกินได้ง่าย เพราะลูกค้าจะสามารถเข้าร้านมารับประทานได้ทั้งวัน
หรือหากเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ประเภทค้าปลีก และการบริการ ทำเลที่ตั้งที่ดีควรมีการอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้ามากที่สุด ดังนั้น เรื่องของการคมนาคม ลานจอดรถ และการอยู่ในย่านชุมชนที่เข้าถึงได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ
2ต้นทุนของสถานที่ทำเล
ยิ่งที่ทำเลดี มีคนผ่านเยอะ อยู่ในย่านชุมชน หรือจะเป็นศูนย์การค้า สถานศึกษา โรงพยาบาล ค่าเช่าก็มักจะยิ่งสูง หากว่าคุณมีทุนทรัพย์เป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็สามารถซื้อ–เช่า ได้อย่างไม่มีปัญหา
แต่ SME Frog ขอแนะนำว่า การมีทำเลที่คนเยอะหรือแพงที่สุด อาจจะไม่ใช่ทำเลที่ดีที่สุด และอาจไม่ได้ทำกำไรเยอะก็ได้ เพราะบางครั้งที่ทำเลปานกลาง ค่าเช่าพออยู่ได้ แต่เหมาะกับสินค้าและบริการของธุรกิจแฟรนไชส์ของเรา ก็อาจทำให้เงินเหลือเยอะกว่าจนกายมาเป็นกำไรแทนได้
3กฎหมายและภาษี
ปัจจุบันมีกฎหมายบางอย่างที่บังคับพื้นที่หรือการโซนนิ่ง (Zoning) ในการประกอบธุรกิจบางประเภทโดยเฉพาะธุรกิจการผลิตและการบริการ ยกตัวอย่าง เช่น ,ร้านอาหารบางประเภทห้ามเปิดในบางพื้นที่
นอกจากนั้นยังมีเรื่องภาษีป้ายประชาสัมพันธ์ของธุรกิจแฟรนไชส์ที่ต้องเสียภาษีด้วย ซึ่งเรื่องนี้หลายคนมักลืมให้ความสำคัญ รู้ตัวอีกทีก็มีเจ้าหน้าที่จากกรมสรรพากรมาเรียกเก็บภาษีแบบทั้งต้น ทั้งดอก จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ต้องศึกษาในเรื่องของกฏหมายและภาษีอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาในอนาคต
4การคมนาคม
สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต เช่น แฟรนไชส์ร้านขนมปัง ที่ตั้งทำเลที่ดีควรอยู่ในบริเวณที่มีค่าขนส่งวัตถุดิบและสินค้าไม่สูงเกินไป
แต่สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่เกี่ยวข้องกับการค้าปลีกและบริการจะต้องเน้นความสะดวกสบายในการสัญจรของลูกค้าและผู้บริโภค ซึ่งในบางครั้งยิ่งอยู่ติดถนนขนาดใหญ่ ยิ่งค้าขายไม่ดี เพราะเส้นทางในถนนใหญ่จะมีรถสัญจรวิ่งผ่านค่อนข้างมาก ทำให้ไม่สะดวกต่อการแวะจอด แต่หากเป็นถนนเส้นเล็ก หรือย่านชุมชน ผู้คนสัญจรผ่านอยู่บ่อยครั้ง เมื่อเห็นว่าสะดวกก็อาจเข้ามาใช้บริการเป็นประจำ
5ความชอบส่วนตัวของผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์
แน่นอนว่าการเลือกทำเลนั้นไม่มีหลักตายตัว โดยเฉพาะความชอบส่วนตัวของผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ก็อาจกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจได้ โดยผู้ประกอบการบางรายอาจมีความชอบทำเลใดเป็นพิเศษ อาทิ เป็นที่ทำเลที่เป็นถิ่นกำเนิด เป็นทำเลที่มีเพื่อนฝูงและญาติมิตรคอยช่วยอุดหนุน
บางท่านอาจชอบทำธุรกิจในย่านชุมชน บางรายอาจชอบที่ทำเลเมืองเล็กๆเพื่อหลบหนีความวุ่นวายในเมืองใหญ่ๆ แม้ว่าอาจจะฟังดูขัดกับหลักการทำธุรกิจอยู่บ้าง แต่ในทางปฏิบัติ การเลือกทำเลที่ตนคุ้นเคยก็อาจไม่แย่เสียไปหมด เพราะเราอาจจะรู้จักกลุ่มลูกค้า รู้จักนิสัยใจคอของคนส่วนใหญ่ในบริเวณนั้นดีกว่าที่อื่นๆ
และนี่ก็เป็นปัจจัยคร่าวๆ สำหรับการเลือกทำเลสำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าการเลือกทำเลย่อมไม่มีหลักตายตัว โดยต้องประกอบไปทั้งข้อมูลทางสถิติ และความรู้สึกของเจ้าของกิจการเอง เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายๆท่านก็คงจะพอเข้าใจ และสามารถนำหลักเกณฑ์ดีๆเหล่านี้ไปประกอบการตัดสินใจได้
SME Frog ก็หวังว่าบทความที่นำเสนอไปในวันนี้จะสามารถเป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจแฟรนไชส์ของผู้อ่านทุกๆท่านได้