
การสร้างธุรกิจแฟรนไชส์เปรียบเสมือนเป็นการสร้างบ้านหลังใหญ่ที่ต้องใช้เวลานาน ตั้งแต่การคิดค้นสูตรลับเฉพาะของธุรกิจเพื่อให้แบรนด์มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น การวางระบบ การจัดหาบุคลากร หาแหล่งเงินทุน ทำเลที่ตั้งที่ต้องสามารถประกอบการได้ในระยะยาว และเหมาะสมกับเงินทุนในกระเป๋า ฯลฯ ก่อนที่จะกลายเป็นสูตรสำเร็จและโลดแล่นอยู่ในวงการธุรกิจ
ดังนั้นเมื่อถึงคราวที่ต้องสร้างเครือข่าย ขยายสาขาก็สามารถทำได้อย่างมั่นคง หากคุณวางรูปแบบของธุรกิจได้ดี การประสบความสำเร็จก็จะยิ่งสูงขึ้น และจะยิ่งมีมูลค่าเพิ่มมากกว่าที่คุณคาดคิดไว้หลายเท่าตัว เพื่อตอกย้ำความพยายามที่ได้ลงทุนลงแรงไปอย่างมหาศาล แต่หากเริ่มทำธุรกิจแฟรนไชส์แบบง่ายๆ ไม่ได้จัดการระบบ กฎเกณฑ์อะไร โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในธุรกิจแฟรนไชส์ก็ยังอยู่ห่างไกลแน่นอน
วันนี้ SME Frog จึงมานำเสนอเคล็ดลับ ว่าสร้างแฟรนไชส์ยังไงให้แข็งแกร่ง เพื่อนำไปเป็นทริคดีๆในการลงทุน แบบไม่มีกั๊กกันเลย
การทำความเข้าใจในเรื่องการสร้างแฟรนไชส์ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเรียนรู้เพียง 2-3 วัน แต่ต้อง อาศัยเวลาในการศึกษา และทำความเข้าใจไม่น้อยเลยทีเดียว อาทิ
- การทำความเข้าใจรูปแบบของการสร้างธุรกิจแฟรนไชส์ว่าทำอย่างไร มีประเภทใดบ้าง
- กลุ่มลูกค้าเป้าหมายและผู้บริโภคคือใคร
- แนวทางที่จะสามารถพัฒนา ให้เป็นระบบแฟรนไชส์ได้อย่างไร พร้อมทั้งการทำความเข้าใจถึงองค์ ประกอบของธุรกิจที่สามารถเข้าข่ายในการเป็นแฟรนไชส์ได้
- การศึกษาในเรื่องของกฎหมาย / ภาษี / การจดทะเบียน / การรักษาสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้า ซึ่งเป็นหัวใจในการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ โดยเฉพาะรูปแบบข้อบังคับต่างๆ ในต่างประเทศซึ่ง บางส่วนแตกต่างจากประเทศไทย จึงเป็นอีกข้อหนึ่งที่ต้องพิจารณากันให้ดี แม้ว่าในประเทศไทย ยังอยู่ในระยะขั้นต้นของ การออกกฎหมายแฟรนไชส์ก็ตาม
- นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้เรื่องของต้นทุน ค่าเสียโอกาสที่ไม่สามารถคำนวณออกมาเป็น จำนวนเงินได้
- การออกแบบเงื่อนไขสัญญา สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาหรือเอกสารนำเสนอ แฟรนไชส์ ก็ ต้องระบุรายละเอียดอย่างเจาะลึกพอสมควร เพื่อป้องกันการใช้ช่องโหว่ทางกฏหมายของมิจฉาชีพ และ เพื่อเป็นระเบียบกฎเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน
- การบริหารความรู้ผ่านกระบวนการอบรม ซึ่งบางแฟรนไชส์ เช่น ชาพะยอม คุณอุ๊ เจ้าของแฟรนไชส์ชา พะยอม จะเป็นผู้อบรมหลักสูตรด้วยตนเอง แต่ทั้งนี้ทุกๆแฟรนไชส์ก็ต้องมีคู่มือประกอบธุรกิจด้วยเช่นกัน ดัง นั้น การเข้าใจวิธีการสร้างคู่มือธุรกิจแฟรนไชส์ จึงเป็นหนึ่งในเรื่องที่จำเป็น
- การเข้าใจในเรื่องของการบริหารงานขายในตลาดแฟรนไชส์ รวมถึงการทำกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นการจัด โรดโชว์ การออกงานแสดงสินค้า การสัมมนา การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ทั้ง โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ เว็บไซด์ที่น่าเชื่อถือและได้รับความนิยม
- การบริหารธุรกิจที่เมื่อเปิดเป็นระบบแฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารสาขาแฟรนไชส์ด้วยข้อมูลระบบ สารสนเทศ เพื่อให้เจ้าของแฟรนไชส์สามารถตรวจสอบและรักษามาตรฐานเพื่อคงคุณภาพของสินค้าและ บริการ การสร้างเอกสารต่างๆ เพื่อการบริหารแฟรนไชส์ รวมไปถึงวิธีการที่จะให้ช่วยเหลือ สนับสนุนแต่ละ สาขาจากสภาวะการแข่งขันในปัจจุบัน ว่าทำอย่างไรจึงจะสู้คู่แข่งได้ ทำอย่างไรจึงจะตามทันคู่แข่ง และ อยู่ในกระแสได้ในระยะยาว
- และสุดท้าย คือ การให้บริการหลังการขาย เจ้าของแฟรนไชส์ต้องไม่รับภาระหนักมากจนเกินไป รวมถึง การบริหารทีมงานให้มีความพร้อมต่อการเติบโตของธุรกิจ ในที่นี้คือ เทคนิคการขายธุรกิจแฟรนไชส์เป็น เรื่องหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ เพราะหากผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์มีสินค้าและบริการที่ดี มีทีมงานมืออาชีพ แต่ไม่มีใครมีความสามารถในการขายธุรกิจแฟรนไชส์ก็นับเป็นปัญหาใหญ่ในการเติบโตของธุรกิจเช่นกัน
SME Frog แนะนำ : การประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ย่อมใช้เวลา เงินลงทุน และประสบการณ์ที่ต้องค่อยๆสั่งสมมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ไม่มีใครเรียนรู้ได้เพียง 2 – 3 ชั่วโมง ดังนั้น ควรทำความเข้าใจระบบของแฟรนไชส์ กฎหมาย เงื่อนไข ภาษีให้รอบคอบ เพื่อเตรียมความพร้อมในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ของคุณ